วีลแชร์ หรือรถเข็นนั่ง เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้พิการหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกายพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ทั้งยังอำนวยความสะดวกและลดข้อจำกัดในการทำสิ่งต่าง ๆ การเลือกวีลแชร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างเหมาะสมจึงไม่เพียงแต่จะช่วยให้ไปไหนมาไหนสะดวก แต่ยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตโดยเปิดโอกาสสู่โลกการศึกษา การทำงาน และการเข้าสังคมให้ราบรื่นยิ่งขึ้น
วีลแชร์จำเป็นต่อใครบ้าง ?
ผู้พิการและผู้ป่วยที่ไม่อาจเดินได้ตามปกติมักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ใช้วีลแชร์เพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการและความจำเป็นของผู้ป่วยด้วยว่าต้องคลื่อนที่มากน้อยเพียงใด เช่น ผู้ป่วยที่กระดูกหักอาจต้องใช้วีลแชร์เพียงในช่วงเวลาสั้น ๆ จนกว่ากระดูกจะประสานตัวดังเดิม แต่หากเป็นอัมพาตครึ่งล่างหรือขาพิการอาจต้องใช้วีลแชร์ไปตลอดชีวิต เป็นต้น
โดยทั่วไป วีลแชร์อาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีภาวะดังต่อไปนี้
- เป็นอัมพาต
- มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก
- มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท หรือได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง
- เดินหรือทรงตัวผิดปกติ
- เดินในระยะไกลไม่ได้
- ได้รับบาดเจ็บที่ขาหรือเท้า กระดูกขาหรือเท้าหัก
ประโยชน์ของวีลแชร์
นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนที่แล้ว วีลแชร์ยังมีประโยชน์ในด้านสุขภาพและการเข้าสังคม ดังนี้
- การเลือกใช้วีลแชร์ที่เหมาะสมกับตนเองและการใช้อย่างถูกวิธีจะช่วยลดการเกิดแผลกดทับ การนั่งผิดท่า การยึดตัวของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดจากการนั่งวีลแชร์เป็นเวลานาน
- วีลแชร์แบบมีเบาะรองนั่งที่เหมาะสม สามารถป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่อาจเกิดจากไขสันหลังได้รับบาดเจ็บได้
- วีลแชร์ที่ใช้งานสะดวกจะช่วยให้เคลื่อนที่และทำกิจกรรมต่าง ๆ บนรถเข็นได้คล่องตัวขึ้น
- ผู้ใช้งานสามารถเคลื่อนที่ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองอย่างอิสระ พึ่งพาผู้อื่นน้อยลง ทำให้มีความมั่นใจและภูมิใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น
- เพิ่มโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยช่วยให้เข้าถึงการศึกษาและการทำงานได้เหมือนคนทั่วไป รวมทั้งส่งเสริมการเข้าสังคม ทำให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับคนในสังคมมากกว่าเดิม
ข้อคำนึงในการเลือกวีลแชร์
วีลแชร์นั้นมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้ แต่แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
- วีลแชร์แบบขับเคลื่อนด้วยแรงคน เคลื่อนที่ได้ด้วยตัวผู้ใช้งานโดยใช้มือและแขนเข็นไป เหมาะกับผู้ที่มีกล้ามเนื้อลำตัวส่วนบนแข็งแรงมากพอ
- วีลแชร์แบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องกล ทำงานโดยเครื่องยนต์และต้องใช้แบตเตอรี่ เหมาะสำหรับผู้ที่มีกล้ามเนื้อลำตัวส่วนบนไม่ค่อยแข็งแรง และมีราคาแพงกว่าวีลแชร์ชนิดออกแรง
ทั้งนี้ เพื่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ควรเลือกวีลแชร์ที่พอดีกับขนาดตัวของผู้ใช้ และมีคุณสมบัติในการใช้งานที่เหมาะสมครบถ้วน ซึ่งแพทย์จะประเมินจากสุขภาพและความแข็งแรงของผู้ป่วย อายุ การเคลื่อนไหว รูปแบบการใช้ชีวิต รวมถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เมื่อนั่งลงแล้วต้องอยู่ในตำแหน่งท่าทางที่พอดี ทั้งความสูงของที่นั่ง ที่พักขา ที่พักหลัง และตำแหน่งแขน นอกจากนี้ ผู้ใช้งานควรคำนึงถึงความปลอดภัยและความทนทานในการใช้งาน ความสามารถในการซื้อ ประกันภัย ความสะดวกในการส่งซ่อมเมื่อชำรุด และความพึงพอใจส่วนตัวด้วย
วิธีการใช้วีลแชร์
ในเบื้องต้นผู้ใช้งานควรฝึกทักษะการเข็นและบังคับวีลแชร์ตามคู่มือการใช้ และอาจขอคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับขั้นตอนในการนั่งหรือลุกขึ้นจากวีลแชร์ และการเคลื่อนที่ผ่านสิ่งกีดขวางต่าง ๆ เช่น พื้นต่างระดับ พื้นขรุขระ พื้นทราย ขอบทาง ทางโค้ง ที่แคบ เป็นต้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสภาพแวดล้อมและสถานการณ์
โดยทักษะการใช้วีลแชร์ที่ถูกต้อง มีดังนี้
- การเข็น ผู้ใช้งานจะรู้สึกเหมือนไม่ต้องออกแรงมาก และควรเข็นวีลแชร์ไปยาว ๆ อย่างนุ่มนวล
- การเลี้ยว ให้ดันวงปั่นด้านหนึ่งไปข้างหน้า และดันอีกด้านหนึ่งไปข้างหลังพร้อม ๆ กัน
- การลงทางลาด เพื่อป้องกันการหงายหลัง ควรโน้มตัวไปด้านหน้าและหมุนวงปั่นผ่านมือไปช้า ๆ หากมีประสบการณ์ในการใช้ อาจยกล้อหน้าเพื่อใช้เฉพาะล้อหลังลงทางลาด
- การลงบันไดด้านหน้าโดยมีคนช่วยเหลือ เอนวีลแชร์มาทางด้านหลังจนล้อหน้ายกขึ้นแล้วค่อย ๆ ให้ล้อหลังเลื่อนลงบันไดไปทีละขั้น ระหว่างนี้ผู้ที่นั่งวีลแชร์อาจจับวงปั่นไว้เพื่อช่วยควบคุมรถ และให้ผู้ช่วยอีกคนหนึ่งคอยประคองอยู่ด้านหน้าโดยจับโครงบริเวณรถซึ่งไม่ใช่ที่วางเท้า
- การขึ้นบันไดด้านหลังโดยมีคนช่วยเหลือ เอนวีลแชร์มาทางด้านหลังจนล้อหน้ายกขึ้นแล้วเลื่อนล้อหลังให้ชิดขั้นบันได จากนั้นเอนแล้วยกขึ้นไปเรื่อย ๆ ทีละขั้น โดยผู้ที่นั่งวีลแชร์อาจคอยช่วยดึงวงปั่นไปด้านหลัง ส่วนผู้ช่วยอีกคนคอยจับประคองด้านหน้าบริเวณโครงรถซึ่งไม่ใช่ที่วางเท้า
- การยกล้อ หมุนล้อไปทางด้านหลังจนมืออยู่ที่ตำแหน่ง 10 นาฬิกา และดันไปด้านหน้าอย่างรวดเร็ว ระหว่างนี้ล้อหน้าของวีลแชร์จะยกขึ้น การหมั่นฝึกฝนจะช่วยให้ยกล้อเพื่อข้ามผ่านสิ่งกีดขวางต่าง ๆ อย่างก้อนหิน เนิน และขอบถนนได้อย่างถูกจังหวะ แต่ในระหว่างฝึกฝนควรมีคนคอยช่วยเหลือเผื่อมีเหตุติดขัดด้วย
การช่วยเหลือผู้ที่ใช้วีลแชร์
สำหรับผู้ช่วยเข็นวีลแชร์ มีข้อควรระมัดระวัง ดังนี้
- หากเข็นวีลแชร์ลงทางลาด ต้องคอยจับให้แน่นและถอยหลังลงอย่างระมัดระวัง รวมทั้งคอยดูให้ผู้ที่นั่งวีลแชร์อยู่ในท่าทางที่ถนัด ไม่ให้ลำตัวเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
- เมื่อเข็นผ่านทางโค้ง ต้องตั้งหลักให้ดีเพื่อป้องกันการเกิดแรงเหวี่ยงระหว่างเข้าโค้ง และดูให้แน่ใจว่าไม่ได้ล็อกล้อรถไว้ เพราะจะทำให้เลี้ยวไม่ได้
- หากผ่านทางขรุขระต้องเข็นช้า ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยกระทบกระเทือนน้อยที่สุด และลดความเสี่ยงในการได้รับบาดเจ็บ
- ก่อนเคลื่อนผ่านทางโค้ง ทางขรุขระ ลงทางลาด หรือผ่านสิ่งกีดขวาง ควรแจ้งให้ผู้ที่นั่งวีลแชร์ทราบเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้พิการได้เตรียมความพร้อม ป้องกันอาการตกใจและการเกิดอุบัติเหตุ
Greetings from Los angeles! I’m bored at work so I decided to browse your website on my iphone
during lunch break. I enjoy the information you provide here and can’t wait to take a look when I get home.
I’m amazed at how quick your blog loaded on my phone ..
I’m not even using WIFI, just 3G .. Anyhow, excellent blog!